ขงจื้อ กล่าวว่า…
ฉันได้ยิน แล้วฉันก็ลืม
(I hear and I forget)
ฉันเห็น ฉันก็จำได้
(I see and I remember)
ฉันทำ ฉันจึงเข้าใจ
(I do and I understand)
ทักษะการสอนงานของท่านเป็นอย่างไรบ้างครับ ดีเยี่ยมแค่ไหน (หลายคนตอบว่าก็ดีเยี่ยมซิ แต่เวลาไปถามคนอื่น เช่น ลูกน้อง กลับบอกว่าสอนไม่ได้เรื่องเลยครับพี่) ปัจจุบันจึงมักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่าหัวหน้างานหรือคนโน้นคนนั้นสอนงานไม่ได้เรื่องเลย แล้วถามว่าคนไทยมีทักษะการสอนกันดีมากน้อยแค่ไหน?
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราไปดูลักษณะหรือกระบวนการ “สอนงาน” กันสักนิดครับว่ามีลักษณะหรือขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งปกติแล้วการสอนงานจะประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1. เตรียมข้อมูลและอุปกรณ์/เครื่องมือการสอน
2. อธิบายสิ่งที่จะสอน
3. ให้ผู้เรียน/พนักงานลงมือทำตามที่อธิบาย
4. ป้อนข้อมูลกลับ (Feedback) ว่าเป็นสิ่งใดขาดตกบกพร่องหรือดีสมบูรณ์เพียงใด (ถ้ายังไม่ดีพอก็ให้ลงมือทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถทำได้)
ก็เคยสงสัยเหมือนกันว่า “คนไทยเราส่วนใหญ่ สอนหรือแค่บอก?” เพราะหลาย ๆ ครั้งเรามักจะได้ยินว่า “สอนแล้วไม่จำ” “สอนไปไม่รู้กี่ครั้ง แล้วทำไมยังทำไม่ได้” ฯลฯ พอมานั่งคิดทบทวนดี ๆ ก็รู้สึกว่าคนไทยเราส่วนใหญ่น่าจะยังไม่ได้สอนกันจริง เป็นเพียงแค่การบอกเท่านั้น คล้าย ๆ กับการอธิบายของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่อธิบายการปฏิบัติเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็ไม่รู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์จริง ๆ แล้วจะมีผู้โดยการปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องกี่คน (เพราะไม่เคยได้ลงมือปฏิบัติจริง ๆ แค่เพียงฟังการอธิบายเท่านั้น)
แล้วคนเรามีการเรียนรู้ (สมอง) อย่างไรนะ?
สมัยเรียนเคยพูดกันเล่น ๆ ในกลุ่มเพื่อน ๆ ว่า ไม่ต้องอ่านหนังสือหรอก ไปนั่งติวหรือฟังเพื่อนติวก็สอบผ่านแล้ว ที่น่าประหลาดใจก็คือบางครั้งได้คะแนนมากกว่าคนที่อ่านหนังสือเสียอีก ผู้เขียนก็ไม่ได้คิดอะไรมาก จนกระทั่งมีโอกาสได้เรียนรู้ศาสตร์ด้านสมอง ทำให้รู้สึกว่าเหตุการณ์ของคนที่นั่งฟังเพื่อนติวได้คะแนนมากกว่าคนที่อ่านอย่างเดียว ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน แล้วผู้เขียนจะค่อย ๆ บอกเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ผู้เขียนถามตัวเองเล่น ๆ ว่าคนเราจะเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้เท่าไหร่ ประกอบกับมีเพื่อนส่งบทความมาให้อ่านพอดี และรู้สึกว่าสอดคล้องกับการทำงานของสมองในเรื่องการสอนงาน บทความดังกล่าวซึ่งผู้เขียนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เขียนขึ้น ระบุว่า
คนเราจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ประมาณ…
- 1% จากการลิ้มรส
- 1.5% จากการสัมผัส
- 3.6% จากการได้กลิ่น
- 11% จากการได้ฟัง
- 83% จากการได้เห็น
และคนเราจะจดจำสิ่งต่างๆ ได้ประมาณ….
- 10% จากการอ่าน
- 20% จากการได้ฟัง
- 30% จากการได้เห็น
- 50% จากการได้ฟังและได้เห็น
- 70% จากการได้พูดหรือได้เขียน
- 90% จากการได้พูดและกระทำ
ท่านว่าจริงหรือไม่ ไม่ต้องไปสนใจตัวเลข เพราะมันไม่สำคัญเท่ากับนัยสำคัญของข้อความเหล่านี้ที่กำลังบอกเราว่า เราจะเรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทการมองเห็น (สายตา) และเราจะจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีถ้าเราได้พูดและลงมือปฏิบัติ ที่บอกว่าสอดคล้องกับการทำงานของสมองนั้นเนื่องจากสมองมีหลักการสำคัญ 3 ประการคือการลงรหัส (Encoding) การเก็บรักษา (Storage) และการเรียกข้อมูล (Retrieval) หรือถ้าจะให้พูดง่าย ๆ ก็คือทำอย่างไรให้สมองสนใจ (Attention & Perception) และทำอย่างไรให้ข้อมูลที่เรียนรู้คงทน ไม่ลืมหายไปจากสมอง (Maintaining) วิธีจะเรียนรู้และจดจำได้ดีที่สุดคือ การได้ลงมือปฏิบัติ ส่วนประเด็นที่ผู้เขียนบอกว่าคนนั่งฟังเพื่อนติว อาจจะได้คะแนนสอบดีกว่าคนอ่าน เพราะการอ่าน (ถ้าไม่อ่านทวนซ้ำ ๆ และเข้าใจจริง ๆ) สมองจะต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น การแยกแยะตัวอักษร การผสมคำและความหมายของคำหรือประโยค ทำให้จำได้น้อยกว่าคนที่ฟังอย่างเดียวที่สมองไม่ต้องทำงานซับซ้อนมากมาย
ดังนั้นการสอนงานที่จะทำให้โดนใจสมอง และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็ควรจะต้องใช้หลักการเรียนรู้สมองเป็นฐาน (NeuroCoaching) ซึ่งมีลักษณะดังนี้
การสอนงานหรือ Coaching ด้วยแนวคิดพื้นฐานของศาสตร์ด้านสมอง (Brain) ผู้เขียนขอตั้งชื่อว่า NeuroCoaching โดยใช้คำว่า Neuro ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า Neuron ที่แปลว่าเซลล์สมอง การสอนงานโดยสมองเป็นฐานประกอบด้วย 2 แนวคิดสำคัญ คือ การสร้างความสนใจให้กับสมองเพื่อที่จะรับรู้ได้ง่าย และการสร้างความคงทนของข้อมูลในสมอง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
การสร้างความสนใจของสมอง (Attention) | การทำให้สิ่งที่เรียนรู้คงทนอยู่ในสมอง (Maintaining) |
1. ออกแบบสิ่งที่เรียนรู้ให้ดูแปลกใหม่ น่าสนใจ | 1. การประยุกต์สิ่งที่เรียน (Apply) |
2. ออกแบบสิ่งที่เรียนรู้ให้เหมาะสม ไม่มากเกินไป เนื่องจากสมองมีพื้นที่จำกัด | 2. การลงมือปฏิบัติจริง (Action Learning) |
3. ออกแบบสิ่งที่เรียนรู้ด้วยภาพ สีสัน และความหมายหรือคุณค่าของสิ่งที่เรียนรู้ | 3. ฝึกการเรียกคืนข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมอง (Reminding) |
4. ออกแบบสิ่งที่เรียนรู้ให้เห็นภาพรวมไปหาภาพย่อย | 4. การทำซ้ำ (Repeating) |
5. ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เชื่อมกับสิ่งที่ผู้เข้าอบรมคุ้นเคย | 5. การทำซ้ำ (Repeating) |
6. ออกแบบสื่อการสอนให้มีความสัมพันธ์กัน | 6. การทำซ้ำ (Repeating) |
7. ออกแบบการฝึกอบรมให้สมองมีความสุข มีอารมณ์อยากเรียนรู้ เช่นการบริหารสมอง การเล่นเกมส์คั่นการบรรยาย | 7. การทำซ้ำ (Repeating) |
8. ควบคุมเวลาการสอนแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 1 – 1.5 ชั่วโมง เพื่อให้สมองได้พักผ่อนบ้าง | 8. การทำซ้ำ (Repeating) |
อย่าเพิ่งต่อว่าผู้เขียนว่าเขียนอะไรซ้ำซ้อน (ข้อ 4 – 8 การทำซ้ำ) ผู้เขียนเจตนาจะสื่ออย่างนั้นจริง ๆ ว่าหลักสำคัญที่สุดของสมองในการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ การทำซ้ำ ๆ ถ้าเราอยากเก่งเหมือนนักกีฬาโอลิมปิก เราก็ต้องขยันซ้อม ซ้อม ซ้อม และก็ซ้อม ทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็จะเก่งไปเอง อยู่ที่ว่าเราจะอดทนได้หรือไม่
การสอนงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงาน ผลการวิจัยที่ผ่านมาก็บ่งบอกแล้วว่า การสอนงานที่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกดีและผูกพันกับผู้สอน หัวหน้างาน และองค์กร เพราะฉะนั้นผู้สอนงานไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน วิทยากร หรือใครก็ตามควรมีความเข้าใจศาสตร์ด้านสมอง เช่น ต้องเข้าใจว่าพนักงานแต่ละคนมี “ทักษะการเรียนรู้” แตกต่างกัน ผู้สอนจะต้องออกแบบเครื่องมือการสอนให้สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ของแต่ละคน ให้เข้าใจว่าสมองของคนเราชอบเรียนรู้เป็นภาพหรือสีสันมากกว่าตัวอักษร ได้เห็นของจริงหรือเห็นตัวอย่าง ได้ฝึกทำและลงมือปฏิบัติจริง จะช่วยให้เรียนรู้ได้ดี แต่การสอนงานต่อให้ดีมากแค่ไหนก็ตาม จะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าสอนแล้วพนักงานไม่ได้เอาไปใช้จริง ดังนั้นเมื่อสอนแล้วสิ่งที่ต้องตระหนักอย่างจริงจังก็คือการติดตามหลังจากฝึกอบรม ต้องมั่นใจว่าพนักงานหรือผู้เข้าอบรมได้นำความรู้ไปปฏิบัติจริง ๆ สุดท้ายถ้าพนักงานยังทำงานไม่ดี ไม่เข้าใจ ก็ให้เข้าใจว่าเกิดจากผู้สอน ไม่ได้เกิดจากตัวพนักงาน เพื่อเราจะได้หาวิธีการสอนให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป
ความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองกับการสอนงาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงานฝึกอบรม เพราะถ้าเข้าใจจะช่วยให้ออกแบบหรือคิดค้นเทคนิคการสอน การอบรมให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ได้ดี วิธีการสอนงานที่ถือว่าดีที่สุดคือ ผู้เรียนหรือผู้เข้าอบรมได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง และปฏิบัติซ้ำ ๆ อย่างสม่ำเสมอด้วยอารมณ์ที่มีความสุข
อย่างไรก็ตาม ขอฝากสมการเรียนรู้ให้ท่านกลับไปขบคิดกันสักนิดว่า…
การเรียนรู้ = ความสามารถ x แรงจูงใจ
ปกติปัญหาการเรียนรู้จะอยู่ที่แรงจูงใจของผู้เรียนใช่มั้ยครับ ถ้าแรงจูงใจเท่ากับศูนย์ สมการเรียนรู้ก็จะเท่ากับศูนย์ หรือไม่เกิดการเรียนรู้นั่นเอง ดังนั้นอย่าลืมหาวิธีการสร้างแรงจูงใจผู้เรียนก่อนเริ่มการเรียนรู้นะครับ
แหล่งที่มา : หนังสือเรื่อง Neuro-Training ผ่าสมองสอนพนักงาน (ดร.สุพจน์ นาคสวัสดิ์)