อากาศเย็นๆสบายกำลังผ่านไป และอากาศร้อนอบอ้าวกำลังจะมาเยือน วันนี้ก็เลยอยากเขียนอะไรที่สบายๆ เป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน ทั้งในฐานะ HR และวิทยากรมักจะมีคนถามบ่อยๆ ว่ามีวิธีการพัฒนาอย่างไรกับคนที่ใจร้อน ขี้หงุดหงิด โวยวาย ที่พลอยทำให้คนรอบข้างพลอยรู้สึกเซ็งไปด้วย ก็ทำให้นึกถึงปัญหายอดฮิตของทุกๆ องค์กร นั่นก็คือ “หัวหน้างานใจร้อนที่ช่างใจร้าย” ซึ่งจากการบรรยายและให้ผู้เข้าอบรมทำ workshop โดยให้นึกถึงและเขียนคุณลักษณะหัวหน้าหรือเจ้านายในดวงใจ ผลปรากฏว่า สิ่งที่ผู้เข้าอบรมเขียนมานั้นสรุปได้ 2 ประเด็นหลักๆ คือ เป็นคนที่สอนงานดี ให้ความรู้ให้คำแนะนำที่ดี (Be good coach) และเข้าหาได้ง่าย อารมณ์ดี รู้สึกสบายใจ อบอุ่น หรือเรียกรวมกันว่าเป็นคนบริหารอารมณ์ได้ดี (Emotional regulation) 2 ประเด็นนี้นำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจและศรัทธาต่อหัวหน้าคนนั้น ดังนั้นวันนี้ก็เลยถือโอกาสหยิบประเด็นเรื่อง “การบริหารอารมณ์” ของหัวหน้างานขึ้นมาพูดคุยสักหน่อย
แน่นอนว่าทั้งหัวหน้างานที่ใจร้อนหรือใจเย็น ก็ล้วนแต่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หัวหน้างานที่ใจเย็นมากไปบางครั้งก็จะถูกลูกน้องบ่นว่าช่างเชื่องช้า ไม่ร้อน ไม่รีบ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ในขณะที่หัวหน้างานที่ใจร้อน ก็จะทำให้ลูกน้องนั่งไม่ติด ต้องรีบทำงาน จนเครียดไปตามๆกัน ลักษณะของหัวหน้างานที่ใจร้อนมักจะเป็นคนไม่ปล่อยวาง ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องอะไรสำคัญและเรื่องอะไรไม่สำคัญ มองทุกอย่างสำคัญเท่ากัน หัวหน้างานที่ใจร้อนดูเหมือนเอาข้อมูลมาใส่สมองจำนวนมาก แล้วไม่สามารถจัดการกับข้อมูลนั้นได้ จนเกิดความวิตกกังวล ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ขาดสติ การจัดการงานต่างๆ แย่ลง ดูไม่น่าคบหาสมาคม ซึ่งทั้งหมดเกิดจากตัวเองที่คิดว่าปัญหาของตนเองสำคัญที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ “ใจ” ก็จะร้อนรนไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง จะหยิบเรื่องหนึ่งก็กังวลอีกเรื่องหนึ่ง สับสนวุ่นวายอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ซึ่งคุณลักษณะของหัวหน้างานที่ใจร้อน อย่างเช่น
– มองทุกอย่างสำคัญไปหมด
– ไม่ปล่อยวาง ให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆมากเกินไป
– คิดว่าตัวเองเก่งคนเดียว คนอื่นทำไม่ได้หรอก
– สร้างความกดดันและความหวาดวิตกให้กับคนอื่น
– ชอบแข่งขันสูง ชอบท้าทาย ชิงดีชิงเด่นเอาชนะ
– เข้มงวด เอาจริงเอาจังกับทุกอย่างไม่มีการผ่อนปรน
– พยายามทำอะไรหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน
– ต้องให้ได้ผลทันทีไม่ชอบรอนาน
จริงๆแล้วคุณลักษณะข้างต้นบางอย่างเป็นสิ่งที่ดี เช่น การเอาจริงเอาจัง แต่ความท้าทายก็คือจะทำอย่างไรไม่ต้องใช้ “อารมณ์” นำหน้า จนเสียการเสียงาน
แหล่งกำเนิดของอารมณ์
อารมณ์มาจากไหน ใครเป็นคนสร้างขึ้นมา? ตัวเราเป็นคนสร้างมันขึ้นมา หรือเกิดจากสิ่งต่างๆนอกกายเรา เช่น อากาศร้อน เพื่อนร่วมงาน ฝนตก รถติด หัวหน้างาน ความก้าวหน้าของความรู้ด้านสมอง (Brain) ในปัจจุบัน บ่งชี้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างของเรา ไม่ว่าจะเป็นความคิด พฤติกรรม หรืออารมณ์ ล้วนมีต้นกำเนิดจาก “สมอง” ของเราทั้งสิ้น ซึ่งก่อนหน้าเราก็มักจะให้เหตุผลว่าที่เราอารมณ์ร้อน อารมณ์ไม่ดี ก็เพราะคนโน่นบ้าง คนนี้บ้าง ดังนั้นจึงทำให้เราแก้ปัญหาด้านอารมณ์ของเราไม่ได้ซะที เพราะมัวโทษคนอื่น หรือโทษดินฟ้าอากาศ (นั่นก็คือ ถ้าจะให้เราไม่มีปัญหาด้านอารมณ์ ก็ต้องแก้ไขสิ่งที่ทำให้อารมณ์ของเราไม่ดี เช่น กำหนดให้อากาศไม่ร้อน ฝนไม่ตก เพื่อนเราเป็นคนน่ารัก ฟังแล้วยังงัยชาตินี้หรือชาติหน้าก็เป็นไปไม่ได้ใช่มั๊ยครับ)
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากสมองของเรา เจ้าอารมณ์ก็เกิดจากสมองเช่นกัน สมองแต่ละส่วนจะทำงานและมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป ดังภาพที่ 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เราเรียกว่า “ระบบลิมบิค” (Limbic system) ดังภาพที่ 3 โดยเฉพาะที่เรียกว่า “อะมิกดาลา” (Amygdala) และ Hippocampus (เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการบันทึกความจำต่างๆ) ดังนั้นอารมณ์ที่แสดงออกมาจะสัมพันธ์กับการทำงานของระบบดังกล่าวนี้ ว่าระบบนี้จะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนความสุข ความเศร้า หรือความเครียด พฤติกรรมทั้งทางกาย สีหน้า ท่าทาง คำพูดของคนๆนั้นก็จะแสดงออกให้เห็น ถ้าจะถามว่าสมองส่วนไหนทำหน้าที่คุมระบบอารมณ์เหล่านี้ คำตอบก็คือ สมองส่วนหน้า (Frontal lobe) ดังนั้นถ้าใครมีพัฒนาการของสมองส่วนหน้าที่ดีก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ได้กว่าคนที่มีประสบการณ์ไปทางการใช้สมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ โดยศักยภาพของสมองมาจากสองส่วนคือจากพันธุกรรมและประสบการณ์ที่สมองได้เรียนรู้ พูดง่ายๆใครใช้สมองสมองส่วนไหนมากกว่ากันส่วนนั้นก็ทำงานได้ดีกว่า แสดงว่าคนที่อารมณ์แปรปรวน ขี้โมโห อารมณ์ร้อน สมองส่วนอารมณ์ทำงานได้ดีกว่าสมองส่วนหน้า ซึ่งอาจจะมาจากหลากหลายสาเหตุ ตัวอย่างเช่น ชีวิตวัยเด็กถูกตามใจ ไม่เคยมีใครขัดใจ อยากได้อะไรต้องได้ มีแต่คนตามใจ หรือคนที่ชอบอ่านนิยายหรือดูหนังน้ำเน่า คนที่ชอบเล่นเกมส์ (มีแนวโน้มทำให้สมาธิสั้น) หรือความสะดวกสบายเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อะไรๆก็ Hi-speed ไม่ต้องรอ ทำให้รอไม่ค่อยเป็น หรือคนที่ต้องต่อสู้กับชีวิต เอาชนะปัญหาต่างๆ และฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จ เหล่านี้เมื่อสมองคนเราต้องเผชิญกับมันอยู่ตลอดเวลาเป็นระยะเวลานาน ก็จะตั้งโปรแกรมพฤติกรรมทางอารมณ์ไว้ในสมองของแต่ละคน เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็จะแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่จนควบคุมไม่ได้ อาจจะมีคนเถียงว่า บางครั้งโมโหเพราะคนๆนั้นไม่ค่อยตระหนักหรือรับผิดชอบกับงานที่ได้รับมอบหมาย พูดอย่างนั้นก็ไม่ผิด แต่ความท้าทายก็คือหัวหน้างานสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ “อารมณ์” จัดการ หรือ “ปัญญา” (Wisdom) จัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว
ดังนั้นเมื่อหัวหน้างานรู้แล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากตัวเอง (สมอง) หัวหน้างานก็ต้องหาวิธีควบคุม “สมอง” ไม่ใช่ให้สมองมาควบคุม เคยมีหัวหน้างานหญิงท่านหนึ่งบอกว่าเป็นคนใจร้อนมาก เพราะรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ (เป็นคนเอาจริงจัง) พอได้เรียนรู้เรื่องสมอง จึงมีความเข้าใจและทำให้ตระหนักมากขึ้นว่าต้องฝึกควบคุมอย่างไร
10 วิธีการบริหารอารมณ์ของหัวหน้างาน (ควบคุมการทำงานของสมอง)
วิธีการพัฒนาหัวหน้างานให้บริหารอารมณ์ได้ดี จะต้องเริ่มด้วยการให้หัวหน้างาน “รู้จักตัวเอง” ก่อน ยิ่งทำให้รู้จักตัวเองมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยพัฒนาความคิดของหัวหน้างานได้ดีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อ “ความคิด” ของหัวหน้างานเปลี่ยนไป ก็จะทำให้ง่ายขึ้นต่อการบริหารและควบคุมอารมณ์ แล้ววิธีทำให้หัวหน้างานรู้จักตัวเองได้ดีนั้นจะต้องทำอย่างไร หลายๆคนอาจจะมีเทคนิคที่แตกต่างกัน แต่ผมขอแนะนำเทคนิคที่พัฒนาจากศาสตร์ด้านสมอง (Brain-base or Neuroscience) ซึ่งผมใช้อบรมพัฒนามาประมาณ 3 ปีแล้วพบว่า ได้ผลเป็นอย่างดี ดังตัวอย่างของแผนภาพที่ 3 ที่พบว่าความรู้ความเข้าใจการทำงานของสมองจะช่วยให้ผู้เรียนและหัวหน้างานรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และสามารถนำไปประยุกต์พัฒนาทักษะการทำงานหรือพฤติกรรมได้ดีกว่าวิธีการสอนแบบเดิมๆ แน่นอนว่าแม้จะเป็นวิธีที่ทำให้รู้จักตัวเองได้ดี แต่มันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะพฤติกรรมทางอารมณ์เหล่านี้ถูกกระตุ้นมาเป็นสิบๆปีจนฝังแน่น (การเชื่อมกันของเซลล์สมองที่มั่นคง) วันนี้ผมขอเสนอวิธิเปิดสมอง เรียนรู้ 10 วิธีการบริหารอารมณ์ พอเป็นตัวอย่าง ดังนี้ครับ
วิธีที่ 1 การให้ความรู้หัวหน้างานเกี่ยวกับความรู้/การทำงานของสมอง เพื่อช่วยให้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น
วิธีที่ 2 หายใจเข้าลึก การหายใจจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย
วิธีที่ 3 ยิ้มสู้ทุกข์ การยิ้มอย่างถูกวิธีคือยิ้มกว้างๆให้กล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตาขยับด้วย (ไม่ต้องกลัวตีนกาขึ้นนะครับ) จะทำให้สมองหลั่งฮอโมนต์ที่เกี่ยวกับความสุขออก
วิธีที่ 4 นับเลข 1-10 การนับเลขก็ช่วยให้เราเปลี่ยนความสนใจจากบรรยากาศที่กระตุ้นให้เราอารมณ์ร้อน หันเหไปสนใจอย่างอื่น ก็เป็นการตัดวงจรการทำงานของสมองวิธีหนึ่ง
วิธีที่ 5 หลีกเลี่ยงคำต้องห้ามเวลาโมโห เช่น คิดว่า “อย่าโกรธๆๆๆ” หรือ “อย่าโมโหๆๆๆ” เพราะสมองจะให้ความสนใจแต่คำว่าโกรธและโมโห ก็จะยิ่งโกรธและโมโห อาจจะคิดเป็นคำอื่นที่เป็นเชิงบวก เช่น ดีจังมีเรื่องท้าทายอีกแล้ว
วิธีที่ 2-5 เป็นวิธีการฝึกตัดวงจรการทำงานของสมอง ความลับหนึ่งของสมอง คือ สมองทำงานทีละอย่าง แต่ด้วยความรวดเร็วจึงอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าสมองงานพร้อมกันหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน ขอย้ำว่าสมองทำงานทีละอย่าง! ด้วยความลับข้อนี้ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างของเรา เช่น อารมณ์ร้อน หรือเครียด ก็ลองใช้วิธีตัดวงจรสมองหรือจะเรียกว่าการเบี่ยงเบนความสนใจของสมองก็ได้ครับ วิธีการตัดวงจรการทำงานของสมอง มีหลากหลายวิธี ถ้าจะให้พูดง่ายๆ กิจกรรมทุกกิจกรรมที่เราทำ ไม่ว่าเล็กๆน้อยๆ หรือใหญ่ๆ ถือเป็นการตัดวงจรการทำงานของสมองทั้งสิ้น เช่น การอ่านหนังสือ การเปิดทีวี การเดินไปล้างหน้า การหัวเราะ การยกมือ การขยับแข้งขยับขา การร้องเพลง เป็นต้น
วิธีที่ 6 ฝึกคิดว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเรา” วิธีนี้ดูเหมือนเป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก ถ้าจะให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมอง จะช่วยให้ง่ายต่อการฝึกคิดมากขึ้น
วิธีที่ 7 ฝึกเปลี่ยนความคิด พยายามคิดแง่บวกอยู่ตลอดเวลา ด้วยการฝึกเปลี่ยนตั้งคำถาม เช่น จากเดิมตั้งคำถามว่า “ทำไมยังไม่เสร็จ ให้งานไปตั้งนานแล้ว อีก 5 นาทีต้องนำเสนอแล้ว?” ลองเปลี่ยนเป็น “มีเวลา 5 นาที ทำอย่างไรถึงจะนำเสนอได้ดี” เป็นต้น
วิธีที่ 8 เขียนหรือบันทึกเชิงบวกทุกๆวันลงในสมุดอย่างน้อย 2-3 เดือน จะช่วยให้เกิดเส้นทางใหม่ (pathway) ของการทำงานของเซลล์สมอง
วิธีที่ 9 การออกกำลังกาย จะช่วยให้ลดความเครียด สมองหลั่งฮอร์โมนความสุขออกมา
วิธีที่ 10 การนั่งสมาธิ ฝึกหายใจยาวๆ ลึกๆ จะช่วยให้เกิดสมาธิและสติ ไม่วอกแวก ส่งผลต่อการปรับคลื่นสมองที่เหมาะสม
ภาพที่ 3 ผลสำรวจความคิดเห็นของหัวหน้างานต่อการประยุกต์ความรู้
ด้านสมองพัฒนาความคิดและทักษะการทำงาน
ทุกวิธีที่กล่าวมาถ้าได้ฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอรับรอง ท่านจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มั่นคงและยั่งยืน เพราะไม่ใช่แค่เปลี่ยนพฤติกรรมธรรมดา แต่ลงลึกถึงขึ้นเปลี่ยนการทำงานของเซลล์สมอง (Neuron) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง ขอย้ำอีกครั้งก่อนจากครับว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการบริหารอารมณ์คือ “การรู้ตัวเอง” (หรือทางพระพุทธศาสนาบอกว่าให้มีสติ) เมื่อรู้ตัวเองแล้วก็ค่อยๆพัฒนาฝึกปรือตัวเองให้เอาอารมณ์ให้อยู่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน ต้องบอกว่ายากสุดๆ ยากกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาอีก แต่ถ้าท่านไม่ยอมแพ้ รับรองเห็นผลแน่นอน หัวหน้างานท่านใดที่อารมณ์ร้อนต้องการฝึกบริหารอารมณ์หรือหน่วยงานฝึกอบรมขององค์การใดต้องการพัฒนาพนักงานหรือหัวหน้างานให้มีทักษะการทำงานหรือการบริหารงานให้ดีขึ้น ลองเอาศาสตร์ด้านสมองไปประยุกต์ใช้ดูนะครับ รับรองท่านจะทึ่งในศักยภาพของมัน…